ทำไม Matt Ramsey จึงใช้ Scale 5โทน ในการแก้ไขปัญหาเสียงเพี้ยน และแบบฝึกหัดฝีกร้องเพลงเพิ่มเติมจากครูฟิล์ม
สวัสดีครับแฟนๆชาวร้องเพลงดอทคอมทุกๆท่าน วันนี้ครูฟิล์มจะมาพูดเรื่องของการฝึกแก้ไขอาการร้องเพี้ยน หรือจับโน้ตไม่ได้ของหลายๆคนนะครับ โดยครูฟิล์มจะอ้างอิงตัวอย่างจากคอร์สของเพื่อนครูฟิล์ม นั่นก็คือ Matt Ramsey นั่นเองครับ นอกจากนั้นครูฟิล์มยังจะใส่ความเห็นและตัวเลือกของแบบฝึกหัดอื่นๆที่ครูฟิล์มคิดว่ามีส่วนช่วยให้นักเรียนพัฒนาได้เร็วขึ้นครับ
สำหรับใครที่ได้เข้าฟังในช่วงแรก Matt ได้บอกว่า ให้เลือกแบบฝึกหัดที่ทำงานตรงกับกล้ามเนื้อ เพื่อแก้ไขอาการร้องเพี้ยน ซึ่งครูฟิล์มเห็นด้วยกับประโยคนี้ และก็เป็นสิ่งที่ครูฟิล์มเลือกทำมาตลอดครับ
แต่สำหรับบางคนก็จะรู้สึกว่า เลือกแบบฝึกหัดอย่างไร ถึงจะเหมาะกับคนที่ร้องเพลงเพี้ยนอย่างเรา
ก่อนที่จะไปพูดกันถึงเรื่องนั้น ครูฟิล์มอยากจะพูดเรื่องที่เคยพูดมาตลอดนั่นก็คือ อาการเพี้ยนที่ครูฟิล์มเจอบ่อยๆ
1. หูเพี้ยนแบบที่เกิดจากการรับรู้ทางเสียงผิดปรกติ แยกไม่ออกระหว่างเสียงสูงเสียงต่ำ สับสนระหว่างเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงแหลม เสียงทุ้ม จนเอาทุกๆอย่างมาผสมปนเปกันไปหมด จนทำให้ไม่สามารถออกเสียงได้ถูกต้องเลย ซึ่งแบบนี้จากประสบการณ์ครูฟิล์ม มักจะเกิดกับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับดนตรีมาก่อน หรือไม่เคยฟัง ไม่เคยร้องมาก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากการปิดกั้นตัวเองเพราะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ หรือทำได้แย่มาก
2. หูเพี้ยน (ร้องเพี้ยน) แบบที่ครูฟิล์มเจอบ่อย ซึ่งก็คือ อาการที่กล้ามเนื้อไม่ทำงานดีพอ จึงไม่สามารถร้องโน้ตตัวนั้นออกมาได้ ทำให้เกิดอาการเพี้ยน นักเรียนไม่เคยฝึกฟังและทำแบบฝึกหัดให้กล้ามเนื้อคุ้นชินกับการออกเสียงให้สัมพันธ์กับสิ่งที่ได้ยินครับ คนประเภทนี้มักจะคิดว่าตัวเป็นมีอาการเพี้ยนในแบบที่ 1 และมักจะโทษตัวเองเสมอว่า เราหูเพี้ยนมาตั้งแต่เด็ก แก้ยังไงก็ไม่เคยหาย (เพราะไม่เคยได้ทำแบบฝึกหัดจริงๆจังๆสักที)
ส่วนอาการเพี้ยนในแบบที่ 2 ยังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกนะครับตามระดับความรุงแรงของอาการเพี้ยน ซึ่งครูฟิล์มจะขอไม่พูดถึงในวันนี้นะครับ
เรามาเข้าเรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้เลยดีกว่าครับ
จาก webinar เราจะเห็นได้ว่า Matt เลือกใช้ Scale 5โทน ในการแก้ไขอาการเพี้ยน ซึ่งก็คือแบบฝึกหัดด้านล่างนั่นเองครับ
แบบฝึกหัดผู้ชาย
https://www.youtube.com/watch?v=YoGBS09Ce0o
แบบฝึกหัดผู้หญิง
https://www.youtube.com/watch?v=FeBanAo3z6Q
จากวีดีโอใน Webinar จะสังเกตว่า หลังจากการทำแบบฝึกหัด 2-3 ครั้ง นักเรียนสามารถจับคีย์ได้ทันที แต่เรื่องของความเร็ว ความช้า ก็จะขึ้นอยู่กับนักเรียนแต่ละคนด้วย เพราะว่าแต่ละคนจะปรับตัวได้ไม่เท่ากันครับ
บางคนจะคิดว่า เวลาทำแบบฝึกหัด ทำง่ายกว่าการร้องเพลงมากๆ เวลาทำแบบฝึกหัดแล้วจะหายเพี้ยนได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่เมื่อเข้าเพลงแล้วจะร้องเพี้ยนเหมือนเดิม เรียกว่าเพี้ยนกระจุยเลยก็ได้
คำตอบของปัญหานี้ คือเรื่องของ Pattern หรือรูปแบบของโน้ตในการร้องนั่นเอง จะสังเกตว่า Pattern ที่มีระห่างของโน้ตไม่กว้าง และมีตัวแรกและตัวสุดท้ายของแบบฝึกหัดเป็นตัวเดียวกัน มักจะใช้งานได้ดีกว่า ทำให้หูของเราจับรูปแบบการร้องได้ดีกว่า ซึ่งการเลือก Pattern ที่ดี มีผลต่อความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างยิ่งครับ
ครูฟิล์มมักจะทำการทดสอบอาการเพี้ยนของนักเรียนเป็นลำดับขึ้น เริ่มจากการท้าทายให้ร้องในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
อย่างแรกคือ
1. เช็คการร้องทีละโน้ต กดเปียโน 1 โน้ตและให้ร้องตามให้ตรงกับที่กด ซึ่งอันนี้เหมือนจะง่ายใช่ไหมครับ แต่กลับเป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่ามีให้แค่หนึ่งโน้ต ร่างกายอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันต่ำ กลาง หรือสูง ไม่มีตัวเปรียบเทียบใดๆเลย ทำให้มีโอกาสที่จะเพี้ยนสูงมาก
2. เช็คการจับโน้ตโดยให้โน้ต 2 โน้ต โดยสลับบางครั้งให้โน้ตตัวแรกสูงกว่า บางครั้งก็ต่ำกว่า แต่ทั้งสองตัวต้องแตกต่างกันมากพอ อย่างน้อย 4 semitone วิธีนี้จะทำให้สมองเกิดการเปรียบเทียบสองโน้ตที่แตกต่างกัน สมองจะเริ่มคิดว่า ตัวไหนนะที่ต่ำกว่า และตัวไหนที่สูงกว่า ทำให้สมองเริ่มจับความสัมพันธ์กันได้ ทำให้มีโอกาสที่จะต้องถูกโน้ตมากกว่า อาจจะถูก 1 ตัว หรือถูกทั้ง 2 ตัวเลยก็เลยก็ได้
3.เช็คการจับโน้ตโดยการเพิ่มโน้ตในรูปแบบต่างๆ (จะยังไม่กล่าวในที่นี้)
เราจะเห็นว่า เมื่อไรที่ร่างกายและสมองได้มีการเปรียบเทียบระหว่างโน้ตสูงและต่ำ เรามีแนวโน้มที่จะจับโน้ตได้ถูกต้อง ร้องออกมาได้ถูกต้องมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีแบบฝึกหัดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์ในการฝึกหู ear training แก้อาการหูเพี้ยนและร้องเพี้ยนครับ สามารถทำตามแบบฝึกหัดข้างล่างได้ โดยเลือกคำที่ง่ายๆก่อนเช่น มา, มัม, ลา, นา
แบบฝึกหัด 5B
ผู้ชาย
https://www.youtube.com/watch?v=1AhWJUVLNHQ
ผู้หญิง
แบบฝึกหัด 3T
ผู้ชาย
https://www.youtube.com/watch?v=TovO0BE77Ec
ผู้หญิง
https://www.youtube.com/watch?v=D72FhK8nOxM
ในระหว่างการทำแบบฝัดหัดนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะร้องถูกหมดทุกโน้ตหรือเปล่า เพราะในระหว่างร้องอาจจะมีโน้ตบางตัวที่ร้องไม่ทัน หรือว่าต้องใช้เวลาในการคิด เพราะฉะนั้น ใน 5 โน้ตนั้น อาจจะร้องทันแค่ 2 โน้ต ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาครับ แม้จะถูกแค่โน้ตเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะนั่นเป็นโน้ตที่ร้องออกมาได้ถูกต้องจากการเปรียบเทียบโน้ตในหัวได้แล้ว
อย่าเพิ่งมองในสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ให้โฟกัสในสิ่งที่ทำได้นะครับ อันนี้สำคัญมาก ถ้าคีย์เริ่มสูงไปให้กลับมาเริ่มใหม่ตั้งแต่แรกครับ เท่านี้หูเราจะเริ่มได้รับการฝึกฝนแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วครับ
อย่าลืมว่าการฝึกทักษะคือการทำซ้ำ และทักษะจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์นะครับ ไม่ได้ขึ้นพรวดพราดแบบหายดีทันควันครับ
ซึ่งนี่แหละครับจะเป็นการบังคับเราให้ฝึกจนเกิดความช่ำชองได้
อย่าลืมนำไปฝึกกันนะครับ
ตอนต่อไปครูฟิล์มจะพูดถึง อาการเกร็งและการปรับตำแหน่งกล่องเสียงเพื่อลดอาการเกร็งของเสียงเมื่อต้องขึ้นเสียงสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Matt พูดเอาไว้ในข้อที่สูง เตรียมตัวกันไว้นะครับ
สำหรับใครที่มองหาครูสอนการใช้เสียงและการร้องเพลงที่ได้รับการฝึกฝนการสอนมาอย่างดี สามารถติดต่อแอดมินได้ที่ ไลน์ไอดี @rongpleng นะครับ แอดมินจะช่วยเลือกคุณครูที่เหมาะสมที่สุดให้ตามงบประมาณที่นักเรียนมี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนครับ
แล้วเจอกันในตอนหน้า
ครูฟิล์ม สวัสดีครับ