กัญชา (แบบรับประทาน) มีผลต่อเสียง หรือเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของเส้นเสียงหรือไม่
ด้วยอาชีพประจำของผมที่ต้องทำงานร่วมกับนักร้อง และผู้ใช้เสียงมือสมัครเล่นและมืออาชีพทุกวัน ผมมักจะได้รับคำถามอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาที่มีต่อเสียง โดยคนส่วนมากมักจะหมายถึงกัญชาในรูปแบบการสูบที่มีการเผาไหม้ มีความร้อนทั้งแบบปกติและแบบไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่า การสูบกัญชาที่มีการเผาไหม้ มีความร้อน หรือมีควัน ย่อมทำให้เกิดการระคายเคืองได้อยู่แล้ว ทั้งการระคายเคืองต่อเส้นเสียง หลอดลม ปอด เช่นเดียวกับการสูบยาสูบ บุหรี่ หรือสูดดมควันต่างๆเป็นเวลานาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความทนทานของร่างกายของแต่ละคนเช่นกัน บางคนอาจจะเกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายมากและลุกลามเป็นการอักเสบจนเสียงหาย ส่งผลกระทบต่อเสียง อาชีพและรายได้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่สำหรับบางคนแล้ว ควันจากการสูบบุหรี่และกัญชา แทบจะไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองใดๆ บางครั้งก็อาจจะเล็กน้อยมากๆจนร่างกายสามารถจัดการได้อัตโนมัติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และบางคนก็สามารถเอาชนะปัญหาเสียงเล็กๆน้อยๆด้วยการใช้เทคนิคการร้องเฉพาะตัว
วันนี้เราจะมาโฟกัสกันที่ กัญชาในรูปแบบรับประทานต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายและหาได้ง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ว่าจะในรูปแบบขนมต่างๆ หมากฝรั่ง บราวนี่ คุ้กกี้ เยลลี่ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วผมก็มักจะแจ้งนักร้องและนักเรียนเสมอว่า ถ้าเลือกได้การรับประทานก็น่าจะเป็นอันตรายต่อเสียงน้อยกว่าการสูบ และก็มีหลายๆท่านที่รับฟังและเปลี่ยนไปใช้การรับประทานแทนการสูบ ส่วนบางท่านก็เลือกที่จะสลับไปมาระหว่างการรับประทานและการสูบ
สิ่งที่ผมจะเล่าต่อจากนี้ได้ถูกปรับและแปลมาจาก Blog ของคุณหมอท่านหนึ่งที่มีชื่อว่า Dr. Reena Gupta ที่ผมเคยได้มีโอกาสเข้าร่วม The Voice Forum Conference และก็ได้ติดตามงานของคุณหมอมาเป็นระยะ เพราะว่าคุณหมอได้ให้ความรู้ทางด้านการใช้เสียงและดูแลเสียงที่อัพเดตตลอดเวลา
โดยปกติแล้ว พวกเราจะทราบกันดีกว่าการสูดดมควันต่างๆและความร้อนมีผลต่อเส้นเสียงโดยตรง อาจจะเกิดอาการระคายเคือง บวม แดง ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการบาดเจ็บทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพราะฉะนั้นหลายๆคนจึงเลือกที่จะบริโภคกัญชาในรุปแบบของการรับประท่าน ซึ่งมีความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันไปว่า การรับประทานกัญชาก็จะส่งผลทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของเส้นเสียงได้เฉกเช่นเดียวกับการสูบเข้าไป โดยความเชื่อนี้หลักๆก็จะตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่า “การรับประทานกัญชาส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว และการที่หลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดอันตรายต่อเส้นเสียง”
ถ้าสมมติฐานด้านบนเป็นจริง ผมก็ควรจะต้องเปลี่ยนวิธีการให้คำปรึกษาต่อนักเรียนและนักร้องที่ใช้กัญชาอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ Dr. Reena ที่พยายามหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานนี้ เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาต่อคนไข้ได้ถูกต้อง และสุดท้ายแล้ว Dr. Reena ก็เจอกับ paper อันนึง ที่มีชื่อว่า Cardiovascular Pharmacology of Cannabinoids (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2228270) และสรุปมาให้ผู้ใช้เสียงอย่างเราได้อ่านและเข้าใจง่ายๆ ซึ่งผมจะกล่าวต่อไปในอีกไม่ช้า
โดยส่วนตัวผมไม่ได้อ่าน paper นี้ทั้งหมด แต่พยายามทำความเข้าใจกับมันเป็นอย่างมาก เพราะการอ่าน paper ภาษาอังกฤษนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายของผมเลย ด้วยความรู้ทางภาษาที่มีจำกัดก็ทำให้ไม่สามารถเข้าใจบางอย่างได้อย่างละเอียดครับ สำหรับ paper นี้ใช้ reference อ้างอิงจาก 132 แหล่ง ซึ่งก็น่าจะมากพอที่จะสรุปสาระสำคัญเพื่อนำมาพิสูจน์ข้อสันนิษฐานข้างต้นได้ ใครเก่งก็อยากให้มานั่งอ่านด้วยกันครับ เพราะก็มีหลายจุดที่อยากรู้เพิ่มเติมครับ สำหรับการแปลศัพท์เฉพาะตรงไหนที่ผมแปลผิด รบกวนทักแชทเพื่อให้ผมแก้ไขด้วยครับ
สิ่งที่ Dr. Reena สรุปจากงานวิจัยนี้ มีดังนี้ครับ ขออนุญาตแปลมากจาก Blog ของคุณหมอครับ (https://www.centerforvocalhealth.com/vocal-health-and-care/edible-marijuana-does-it-affect-the-voice)
– ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชา หรือสาร THC ที่มีต่อหลอดเลือด โดย paper นี้ได้ทำการศึกษาจากบทความกว่า 112 ฉบับ ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า สาร THC ทำให้เกิดผลกระทบต่อหลอดเลือด
– มีหลักฐานที่สำคัญที่ทำให้รู้ว่า หลอดเลือดมีการหดตัวจากการใช้กัญชา ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า กัญชาทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ความเชื่อที่ว่ากัญชาทำให้หลอดเลือดขยายตัว อาจจะไม่ได้สรุปมาจากการศึกษาจากงานวิจัยใดๆ
– งานวิจัยยังบอกว่า การทดลองในหนูทำให้เห็นว่าสาร THB ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งเทียบได้กับการหดตัวของหลอดเลือดจากสาร norepinephrine ซึ่งสารเคมีธรรมชาติในร่างกายชนิดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อภาวะเครียด และเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทระหว่างเส้นประสาท
– อย่างไรก็ตาม สารเคมีและผลลัพธ์จากการใช้กัญชานั้นมีความซับซ้อน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดทั้งการขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือด แต่จากการศึกษาหลักฐานต่างๆแล้วพบว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดการหดตัวมากกว่า
– ไม่มีหลักฐาน และไม่มีข้อพิสูจน์ที่ว่าการขยายตัวของหลอดเลือดเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการตกเลือดในเส้นเสียง (hemorrhage) ยกตัวอย่างเช่น ยาไวอะกร้า ก็ทำงานโดยการขยายหลอดเลือดเช่นกัน ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนโดย The National Center for Voice and Speech ของสหรัฐอเมริกาว่าไวอะกร้าไม่มีผลกระทบต่อเสียง
– ไม่มีหลักฐานใดๆที่พิสูจน์ได้ว่า การรับประทานกัญชาจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิด vocal hemorrhage (การตกเลือด-เลือดออกบริเวณเส้นเสียง) เพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่คุณหมอกล่าวเพิ่มเติมคือว่า ความเชื่อต่างๆที่สรุปกันโดยไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นอันตรายต่อชุมชนและผู้คนที่อาจจะรับข้อมูลผิดๆไป เราต้องแยกความเห็นออกจากความจริงให้ได้ คนที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาควรจะต้องมีความโปร่งใสและแยกให้ห้องว่าความคิดเห็นของเรานั้นมีความจริงที่สรุปโดยวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยหรือไม่ หรือเป็นแค่ความเห็นลอยๆเท่านั้นเอง จากการศึกษาที่คุณหมอได้หาข้อมูลมาทำให้รู้ว่า การรับประทานกัญชานั้นไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเส้นเสียงและยังมีความปลอดภัยกว่าการสูบกัญชาอยู่มาก
*********
ถ้าท่านใดอ่านงานวิจัย หรืออ่าน blog ของคุณหมอ แล้วเห็นว่าผมแปลมาผิด หรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ไม่ชัดเจน รบกวน dm มาให้ผมแก้ไขด้วยครับ ยินดีปรับให้ถูกต้อง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักร้องทุกท่านครับ
และขอฝากธุรกิจเล็กๆของผมเอาไว้ด้วย
– สอนร้องเพลงและปรับเทคนิคการใช้เสียงร้องและพูด
ร้องเพลงดอทคอม สอนร้องเพลง เทคนิคการใช้เสียง
– นวดกล่องเสียงและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสียง
Vocalm Thailand
– คอร์สพัฒนาครูสอนร้องเพลงด้วยหลักการการแก้ไขเสียงด้วยวิทยาศาสตร์ Modern Vocal Training – Thailand