ก่อนที่ครูฟิล์มจะแชร์เรื่องการโค้ชก่อนรอบชิงชนะเลิศของธัช ครูฟิล์มต้องขอแสดงความยินดีกับธัช และครูฟิล์มขอยกเครดิตความเก่งและความพยายามทั้งหมดให้ตัวของน้องเองนะครับ
ในช่วงที่รายการเปิดออดิชั่น “ธัช กิตติธัช” ได้เห็นประกาศที่ผมประกาศลงเฟสบุ๊คเรื่องรับสมัครนักร้องรายการใหม่ของทาง Workpoint ทัชจึงได้ติดต่อมา โดยส่วนตัวยังไม่ทราบว่าธัชร้องเพลงลูกกรุงได้ เพราะเคยเห็นผลงานร้อง Pop ของน้องเพียงอย่างเดียว จนได้มาฟังเดโม่ที่น้องใช้ส่งออดิชั่น จึงรู้ว่าน้องมีความสามารถในการร้องลูกกรุงและสุนทราภรณ์ในระดับที่ดี หน้าที่ครั้งแรกของครูฟิล์มก็จบตั้งแต่การส่งชื่อและวีดีโอน้องให้ทีมงาน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ครูฟิล์มแทบไม่ต้องลุ้นก็รู้ว่าการร้องแบบนี้ยังไงก็เข้ารอบแน่นอนอยู่แล้ว
วันนึง ก่อนถึงรอบชิงชนะเลิศเพียงไม่กี่วัน ธัชได้ติดต่อเข้ามาอีกครั้งเรื่องการเข้ามาเรียนกับครูฟิล์ม เพื่อพัฒนาในขั้นตอนสุดท้ายก่อนทำการขึ้นประกวด วันนั้นถ้าจำไม่ผิด ธัช ใช้เวลาไปทั้งหมด 2 ชั่วโมงเต็มกับครูฟิล์ม นั่งวิเคราะห์เพลงกันตั้งแต่ต้น
หลังจากที่ครูฟิล์มได้ทราบชื่อเพลงรอบชิงครั้งแรก ซึ่งก็คือเพลง พรานทะเล ก็รู้สึกได้ว่า เพลงนี้คือเพลงแชมป์ ถึงแม้เมโลดี้เพลงนี้จะไม่ได้พีคมาก แต่ยังไงแล้วสำหรับเพลงนี้ ครูฟิล์มก็ยังมองว่าเป็นเพลงแชมป์อยู่ดี ขอเพียงทำให้สมบูรณ์ ไม่ต้องหวือหวา ทำให้อิ่มใจคนฟัง เพลงนี้น่าจะนั่งอยู่ในใจกรรมการได้ไม่ยาก
ก่อนถึงวันที่จะเจอกันจริงๆ ครูฟิล์มถามคำถามกับธัชไปว่า “อยากร้องเวอร์ชั่นไหน ระหว่าง ร้องเพื่อเอาไปชิงแชมป์ หรือ ร้องในแบบที่แชมป์ควรร้อง” คำตอบของน้องคือ “ผมจะร้องเพลงนี้แบบที่แชมป์ร้อง” …… ปัง ยังไงก็ชนะ (ครูฟิล์มคิดในใจ)
แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะน้องส่งเสียงอัดรอบซ้อมใหญ่มาให้ผมฟัง ครูฟิล์มฟังไปทั้งหมด 4 รอบเต็มๆ เพื่อนั่งหาจุดบกพร่อง (จุดบกพร่องที่ไม่เกี่ยวกับสไตล์การร้องของทัช) จุดบกพร่องที่อาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดที่ใหญ่ขึ้นได้บนเวที ความบกพร่องที่คนเห็นชัด หรือคนที่หูดีๆจะสังเกตได้ ซึ่งครูฟิล์มก็ได้ลิสต์ปัญหานั้นออกมาจำนวนหนึ่ง โดยแยกเป็น
1. ปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของการร้องซึ่งก่อให้เกิดผลเสียกับเพลงและอาจโดนตัดคะแนน
2. ปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของการร้อง แต่กลายเป็นผลดีต่อสไตล์และอาจจะไม่โดนตัดคะแนน
3. ปัญหาที่เกิดจากการสร้างสไตล์การร้องที่อาจจะมีปัญหาต่อการร้องตามแบบแผนเดิม
4. ปัญหาที่เชื่อว่า นักร้องเอง ไม่คิดว่าเป็นปัญหา
วันนี้ครูฟิล์มจะไม่ขอลงรายละเอียดในส่วนของปัญหาต่างๆ แต่จะพูดถึงเรื่องการจัดการกับปัญหาต่างๆมากกว่าในฐานะ Vocal coach นะครับ
ก่อนอื่นสิ่งที่ต้องจัดการให้ได้ก็คือ มุมมอง 3 มุมมองที่สำคัญคือ
1. มุมมองของตัวนักร้องที่มีต่อนักร้องเอง
2. มุมมองกรรมการที่มีต่อนักร้อง
3. มุมมองผู้ฟังที่มีต่อนักร้อง
ตัวตนและการสื่อสารทั้ง 3 มุมมอง ต้องมีความชัดและไปทางเดียวกัน เหตุผลไม่ใช่เพื่อเอาใจทุกคน แต่เหตุผลคือ เราจะรู้จุดยืนที่เด่นชัดในฐานะนักร้อง ว่า เราต้องการทำอะไร เมื่อเรามีทิศทางที่แน่นอนแล้ว ความมั่นใจมากขึ้น และรู้ว่า เราควรจะโฟกัสเรื่องใด การหาคำตอบนี้ส่วนมากเกิดจากการซักถามประสบการณ์ตรงของนักร้องครับ
สิ่งที่ครูฟิล์มจะถามธัชเสมอในห้องเรียนคือ “ทัชจะเอาอะไร” “ทัชอยากได้แบบไหน” “ธัชเป็นศิลปินคนนึงธัชอยากนำเสนออะไร”
บางครั้งนักร้องไม่ได้ต้องการเทคนิคการร้องที่ดีขึ้น แต่นักร้องต้องการทิศทางการร้องและการแสดงที่เด่นชัดขึ้น เพราะทัชรู้ว่า ชั่วโมงนี้ไม่ได้ว่ากันด้วยเรื่องเสียงแล้ว เพราะคู่แข่งก็ร้องดีกันหมด แต่ทัชจะทำอะไรให้เด่นขึ้นมามากกว่าคนอื่นๆเพื่อคว้าแชมป์
จริงๆแล้วในห้องเรียนวันนั้น เราใช้เวลาในการแก้ไขเสียงนานระดับนึงเลย แต่เป็นการสร้างการรับรู้ให้ทัชรู้ว่า ยังมีจุดที่ต้องแก้ไข แต่แก้ไขทันหรือไม่ทันก็ช่างมัน ถ้าทันก็เป็นโบนัสให้คนฟัง ถ้าไม่ทันก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าธัชจะต้องแก้อะไร เพราะคนฟังไม่ได้อยู่ด้วยกันกับเราตอนนี้
เพลงแรกพรานทะเล เป็นเพลงที่เมโลดี้สวยมากๆ เรียกได้ว่าสวยมากจับใจ บวกกับเสน่ห์การร้องเพลงเก่าของธัช ก็ยิ่งทำให้เพลงมีความลึกซึ้งมากขึ้น บวกกับการออกเสียงพยัญชนะไทยบางตัวในแบบของทัช(ที่แตกต่าง) ก็ยิ่งทำให้เพลงมีจุดสะกิดหู ให้ความรู้สึกแตกต่างๆดี น่าสนใจ เพลงแรกนี้สำหรับทัชถือว่าไม่ง่าย เพราะรายละเอียดเยอะมาก แต่น้องก็ตั้งใจแก้ไข ถึงแม้ว่าเหงื่อจะแตกมากก็ตาม !!!!! (เพลงแรกปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่เทคนิคการใช้เสียง)
ปัญหาของเพลงที่ 2 นั้นทวีความเข้มข้นขึ้น เพราะจะต้องร้องให้ดีขึ้น พีคขึ้น และต้องสื่อสารให้เข้มข้นขึ้น เพราะเป็นเพลงจบโชว์ คราวนี้ครูฟิล์มก็นั่งวิเคราะห์ดนตรีที่ได้ฟังว่า ดนตรีมีความหนาบางช่วงไหน เครื่องดนตรีหลักในช่วงนั้นคืออะไร และระดับของคอรัสเป็นอย่างไร บางครั้งโน้ตของคอรัสก็น่าสนใจมาก บางครั้งก็พุ่งมาก เราจึงต้องหาวิธีร้องที่กลมกลืน แต่ก็ไม่ลืมหาทางทำให้เสียงโดดเด่นขึ้นมาในช่วงที่ควรจะโดดเด่น ช่วงโหมหนักของเพลงก็เป็นอีกช่วงที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะว่าธัชต้องร้องเนื้อซ้ำสองรอบ ถ้าไม่วางแผนให้ดี มีโอกาสเสียช่วงทอง ช่วงทำคะแนนนี้ไป แต่สุดท้ายเราทั้งสองคนก็หาจุดที่ลงตัวจนได้ นักร้อง Happy ครูก็ Happy
ในวันที่เรียน หน้าที่ของ Vocal Coach นอกจากจะสร้าง Safe Space สำหรับนักร้องแล้ว เรายังจะต้องหาตัวเลือกที่เหมาะสมกับนักร้องด้วย การแชร์ข้อมูลและการสื่อสารระหว่างนักร้องและโค้ชนั้นสำคัญมาก เพราะว่านักร้องยังต้องคงสเน่ห์ของตัวเองเอาไว้ ในขณะที่การร้องและการแสดงยังต้องเต็มร้อย
ณ เวลานี้ก็คงพูดได้เต็มปากว่า ธัช กิตติธัช แชมป์คนแรกของรายการเพลงเอกของประเทศไทย มีความเหมาะสมทั้งในเรื่องของการร้อง การแสดง และความตั้งใจในการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างผลงานให้แฟนได้ฟังกัน
ครูฟิล์มขอเป็นกำลังใจ และแสดงความยินดีอีกครั้ง และยังคงมอบเครดิตความเก่งและความตั้งใจให้นักเรียนครับ